รีวิว ไวโอเล็ต เอเวอร์การ์เด้น
Violet Evergarden ไวโอเล็ต เอเวอร์การ์เด้น รีวิว อนิเมะระดับมาสเตอร์พีซ ผลงานน้ำดีของสตูดิโอชื่อดังอย่าง Kyoto Animation ฉายใน Netflix ครบ 13 ตอน + 1 Special + 1 Movie
Violet Evergarden อนิเมะน้ำดี ที่เป็นผลงานโดยสตูดิโอชื่อดังอย่าง Kyoto Animation ซึ่งฉายไปตั้งแต่ปี 2018 ดัดแปลงจากนิยาย Light Novel ต้นฉบับโดย Kana Akatsuki งานกำกับโดย Taichi Ichidate ซึ่งเคยมีผลงานการกำกับประจำตอนให้กับอนิเมะของ Kyoto Animation (หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า เกียวอนิ) มากมายหลายเรื่อง
สำหรับผลงานเรื่องนี้จัดว่าเป็นงานมาสเตอร์พีซเรื่องหนึ่งในวงการอนิเมะและเป็นหนึ่งในผลงานยอดเยี่ยมที่สุดของเกียวอนิ ได้รับทั้งรางวัลและเป็นกระแสไม่น้อยในช่วงที่ออกฉาย แล้วยังโดดเด่นมากในด้านงานภาพซึ่งมีความพลิ้วไหวสวยงามมากจนถึงขนาดที่หลายฝ่ายยกย่องให้เป็นอนิเมะที่มีโปรดักชั่นด้านงานภาพอลังการและยอดเยี่ยม งดงามที่สุดในรอบทศวรรษเลยทีเดียว เรียกว่าแม้เรื่องนี้จะเป็นผลงานอนิเมะซีรีส์ แต่ด้านคุณภาพของงานสร้างอยู่ในระดับภาพยนตร์อนิเมชั่นเลยก็ว่าได้
เรื่องย่อ รีวิว ไวโอเล็ต เอเวอร์การ์เด้น
เรื่องราวของโลกแฟนตาซีที่เซตติ้งคล้ายกับทวีปยุโรปในสมัยศตวรรษที่ 19 กล่าวถึงเรื่องราวหลังยุคสงครามสิ้นสุดลง ซึ่งในช่วงเวลานั้นได้มีนักวิทยาศาสตร์ที่พัฒนาจักรกลที่เรียกว่า ออโต้เมโมรี่ดอลล์ (Auto Memory Dolls) ซึ่งเป้าหมายก็คือเพื่อช่วยภรรยาที่สูญเสียการมองเห็นสามารถพิมพ์นิยายของเธอจากเครื่องพิมพ์ดีดได้ ต่อมาจึงมีการพัฒนาเครื่องจักรกลเพื่อนำไปใช้ในกองทัพ
ซึ่งในเรื่องราวจะเล่าผ่านตัวเอก ไวโอเล็ต หญิงสาวที่เป็นเด็กกำพร้าแล้วถูกนำตัวไปรบในสงคราม เธอถูกฝึกจนเสมือนเป็นเครื่องจักรไร้ความรู้สึก แต่มีศักยภาพในการต่อสู้ การใช้อาวุธ และพร้อมทำตามคำสั่งทุกอย่างโดยไร้อารมณ์แสดงออก ซึ่งในกองทัพเธอได้ทำงานขึ้นตรงกับ ผู้พันกิลเบิร์ต แต่แล้วทั้งสองก็ได้รับบาดเจ็บสาหัสในระหว่างทำภารกิจในสงครามแล้วทั้งสองก็ต้องพลัดพรากจากกัน
ไวโอเล็ตเสียแขนทั้งสองข้าง จึงได้รับการผ่าตัวใส่แขนเทียมเหล็กไว้ ซึ่งเธอก็ได้ไปอยู่ในความดูแลของป้าของกิลเบิร์ต แล้วได้ใช้นามสกุล ไวโอเล็ต แต่แล้วเธอก็ได้ไปทำงานให้กับผู้พันฮอตกินส์ เพื่อนของกิลเบิร์ตที่ได้ออกมาเปิดกิจการบริษัทไปรษณีย์ เนื่องจากไวโอเล็ตเกิดความสงสัยและอยากรู้ถึงการทำงานของเหล่าออโต้เมโมรี่ดอลล์ ที่เป็นเหล่าผู้หญิงที่รับงานเขียนจดหมายแทนผู้คน ซึ่งการเขียนเหล่านั้นไม่ใช่แค่การสื่อสารเนื้อหาธรรมดา แต่จะต้องใส่ความรู้สึกนึกคิดลงไปเพื่อช่วยสื่อสารในสิ่งที่ผู้คนยากจะบอกออกมาได้ รวมถึงตัวเธอเองที่ไม่เข้าใจความหมายของคำพูดสุดท้ายที่ผู้พันกิลเบิร์ตได้ถ่ายทอดออกมา เธอจึงได้เข้าทำงานในฐานะออโต้เมโมรี่ดอลล์ในบริษัทของฮอตกินส์
นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ ไวโอเล็ต เอเวอร์การ์เด็น ในฐานะออโต้เมโมรี่ดอลล์มือใหม่ ที่จะได้พบเจอผู้คนมากมาย ที่ต้องการถ่ายทอดสิ่งที่เวลาปกติไม่สามารถพูดออกมาได้ให้ผ่านลงบนจดหมาย ซึ่งเรื่องราวก็จะมีทั้ง สุข เศร้า เหงา การพบเจอและการลาจาก คละเคล้าปนกันไป รวมถึงตัวไวโอเล็ตที่จะค่อยๆเรียนรู้การแสดงอารมณ์ความรู้สึกของเธอออกมามากขึ้นเรื่อยๆ
ตัวละคร
ไวโอเล็ต เอเวอร์การ์เด้น
เธอเป็นหญิงสาวผู้เงียบขรึม มีรูปลักษณ์งดงามโดดเด่น ทุกคำพูดและกริยาท่าทางล้วนสง่างามโดดเด่นมากๆชนิดที่บรรดาตัวละครในเรื่องก็ยังยอมรันกัน แต่ที่จริงแล้วอดีตของเธอเป็นเด็กกำพร้าที่เคยต้องเข้ามาเป็นทหารในสงคราม ซึ่งเธอถูกใช้ในฐานะเครื่องจักรสงครามที่รู้จักแค่การทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเท่านั้น
หลังจากสงครามจบ ไวโอเล็ตที่เสียแขนทั้งสองข้างไปได้รับการผ่าตัดใส่แขนเทียมเหล็กเข้ามาแทน แล้วก็ต้องแยกจากผู้พันกิลเบิร์ต จากนั้นเธอก็ได้มาอยู่กับผู้พันฮอตกินส์ที่เป็นเพื่อนของผู้พัน
เนื่องจากเธอไม่ค่อยเข้าใจความหมายของคำพูดสุดท้ายที่ผู้พันกิลเบิร์ตได้ถ่ายทอดออกมาในระหว่างสงคราม ช่วงที่ทั้งสองคนได้รับบาดเจ็บสาหัส แล้วก็ไม่รู้ว่าจะรอดชีวิตหรือไม่ ซึ่งคำที่ผู้พันถ่ายทอดให้นั้นคาใจเธอมาตลอด เธอเห็นว่าหากได้ทำงานเป็นออโต้เมโมรี่ดอลล์ อาจจะทำให้เธอเข้าใจความหมายในคำพูดของผู้พันก็ได้ จึงได้เข้าทำงานในบริษัทของฮอตกินส์ในฐานะออโต้เมโมรี่ดอลล์นับตั้งแต่นั้น
สำหรับตัวละครให้เสียงพากย์โดย Yui Ichikawa ที่มีผลงานดังในบทของ มิคาสะ จากเรื่อง Attack on Titan
กิลเบิร์ต บูเกนวิลเลีย
กิลเบิร์ตเป็นนายทหารระดับสูง ยศผู้พัน มาจากตระกูลที่มีชื่อเสียง เขาเก็บไวโอเล็ตมาดูแล แม้จะสงสารเธอ แต่ก็เข้าใจตัวตนในฐานะทหารของเธอ จึงใช้งานเธอในฐานะทหารระหว่างสงคราม
คำพูดสุดท้ายที่เขาถ่ายทอดให้ไวโอเล็ตในระหว่างบาดเจ็บสาหัส ได้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนที่ทำให้ไวโอเล็ตอยากจะเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ เขาได้มอบเครื่องรางเป็นจี้ไว้ให้กับไวโอเล็ต ซึ่งมันกลายเป็นของสำคัญของเธอหลังจากนั้น ความปรารถนาอย่างหนึ่งของเขาคืออยากให้ไวโอเล็ตได้ใช้ชีวิตอย่างเด็กสาวธรรมดา ไม่ต้องคอยรับคำสั่งทางทหาร หรือกระทั่งคำสั่งของเขาอีก
คลาวเดีย ฮอตกินส์
อดีตนายทหารที่ได้ออกมาเปิดกิจการบริษัทไปรษณีย์ เป็นเพื่อนสนิทกับกิลเบิร์ต เขาเป็นคนจิตใจดี รู้และเข้าใจปัญหาของไวโอเล็ตพอสมควร จึงรับเธอมาทำงานด้วยในฐานะออโต้เมโมรี่ดอลล์ ที่จะต้องรับงานจากลูกค้ามาเขียนจดหมายเพื่อส่งให้ตามที่ต้องการ เขายังรับฝากความต้องการจากกิลเบิร์ตที่อยากให้ไวโอเล็ตใช้ชีวิตด้วยตนเองโดยไม่ต้องคอยรับคำสั่งจากใครอีก
แคทเทลียา บลาวเดเลีย
ออโต้เมโมรี่ดอลล์ รุ่นพี่ของพวกไวโอเล็ตในบริษัท เป็นดาวเด่นที่มีลูกค้าเข้ามาจ้างงานจำนวนมากที่สุด เดิมเคยเป็นนักเต้นที่รู้จักกับฮอตกินส์และสนิทสนมกันมาก่อนตั้งแต่ก่อนตั้งบริษัท ถือว่าเป็นพนักงานคนแรกๆของบริษัทก็ว่าได้ ในช่วงที่ไวโอเล็ตเพิ่งเริ่มทำงาน เธอมีส่วนช่วยเหลือไม่น้อย
เบเนดิกซ์ บลู
บุรุษไปรษณีย์ของบริษัท มีนิสัยเป็นกันเอง รู้จักกับฮอตกินส์มาตั้งแต่ก่อนตั้งบริษัทเช่นเดียวกับแคทลียา จึงได้มาร่วมงานด้วย เขาให้ความสนใจต่อไวโอเล็ตในช่วงแรกไม่น้อย แต่อันที่จริงแล้วเขาดูเหมือนจะแอบชอบแคทลียาอยู่ด้วย
เอริกา บราวน์
หนึ่งในดอลล์ของบริษัท มีปัญหาเรื่องการสื่อสารกับลูกค้า แต่กลับเข้าใจการสื่อสารของไวโอเล็ตได้ในช่วงแรก และยังช่วยแนะนำเรื่องต่างๆให้กับไวโอเล็ตด้วย
ไอรีส คานนารี่
หนึ่งในดอลล์ของบริษัท เป็นเด็กสาวที่มาจากชนบทเพื่อทำตามความฝันในการเป็นดอลล์ แต่ยังไม่ได้ถูกจ้าง ช่วงแรกจึงไม่ค่อยพอใจไวโอเล็ตที่มาพร้อมความสามารถระดับสูงเท่าไรนัก แต่ภายหลังจากได้ร่วมงานกับไวโอเล็ตแล้ว ก็เริ่มเปิดใจให้มากขึ้น
ดายฟรีด บูเกนวิลเลีย
พี่ชายของกิลเบิร์ต นายทหารระดับสูง ซึ่งไม่ค่อยพอใจคำสั่งจากเบื้องบนมากนัก เขาเป็นห่วงน้องชายและไม่ค่อยพอใจไวโอเล็ตในฐานะของทหารจักรกลที่ทำเป็นแต่การรับคำสั่งแล้วก็ยังปกป้องน้องชายเขาไม่ได้ แต่ภายหลังเขาก็ยอมเปิดใจให้กับไวโอเล็ตหลังจากได้มาทำภารกิจทางทหารร่วมกัน
ความรู้สึกหลังดู
ที่จริงโดยพล็อตเรื่อง เนื้อหาต่างๆ ไม่ได้มีอะไรโดดเด่นมากนัก การเซตติ้งโลกในเรื่องก็เป็นการวางไว้หลวมๆ ไม่ได้เจาะลึกอะไรมากนัก ซึ่งโลกในเรื่องจะเป็นโลกสมมติที่คล้ายกับยุโรปในช่วงศตวรรษที่ 19 แต่ตรงส่วนนี้ก็ไม่ต้องใส่ใจมากนักก็ได้ เพราะสิ่งที่เรื่องต้องการนำเสนอคืออารมณ์ที่จะถูกสื่อสารและถ่ายทอดออกมาในเรื่องราวแต่ละตอน จากภารกิจที่นางเอกของเราคือ ไวโอเล็ต จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง และพบเจอกับผู้คนต่างๆ
ซึ่งสิ่งที่เราจะได้เห็นก็คือพัฒนาการทางด้านการแสดงออกทางอารมณ์ของไวโอเล็ต ที่จะเปลี่ยนไปทีละนิดๆ จากเด็กสาวที่หน้านิ่งเหมือนหุ่นยนต์ในตอนแรกของเรื่อง และตรรกะวิธีคิดที่ไม่เหมือนเด็กสาวทั่วไป ต้องคอยรับคำสั่งอย่างเดียว ก็เริ่มที่จะเข้าใจความรู้สึกของผู้คนอื่นๆมากขึ้น และเริ่มที่จะคิดและตัดสินใจด้วยตนเอง แถมยังสามารถเป็นกำลังใจให้ผู้คนแปลกหน้าต่างๆที่มีชีวิตไม่เหมือนกันได้ด้วย
ในการเดินเรื่อง จะเป็นลักษณะของอนิเมะยุคเก่าคือเรื่องราวทำภารกิจจบเป็นตอนๆไป มีลูกค้ามาจ้าง เรื่องก็เริ่มที่ไวโอเล็ตเดินทางลำพังไปทำงาน ไปยังสถานที่ต่างๆ ไปเจอผู้คน หรือบางครั้งก็มีสถานการณ์ที่ต้องร่วมงานกับคนอื่นก็มี โดยภารกิจของเธอคือการเขียนจดหมาย บอกเล่าความในใจของผู้คนให้ส่งไปหาคนอื่นที่พวกเขาต้องการสื่อสารด้วย
หลายคนอาจจะสงสัยว่า จะมีอาชีพคนเขียนจดหมายไปทำไม แต่งานรับจ้างเขียนจดหมายเคยเป็นอาชีพที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ เพราะในสมัยก่อน ไม่ใช่ทุกคนที่อ่านออกเขียนได้ ในบางสังคมจึงมีคนที่ทำหน้าที่เขียนจดหมายหรือเอกสารเพื่อส่งไปยังราชการ จดหมายร้องเรียน หรือคนที่ต้องการเขียนจดหมายกลับไปหาญาติมิตรที่ห่างไกล เป็นต้น
ซึ่งเรื่องนี้ก็ใช้การเซตติ้งในลักษณะที่ว่า บางครั้งผู้คน “ก็ไม่รู้ว่าควรจะสื่อสารอะไรออกมา” บางครั้งการใช้คำพูด ก็ไม่เพียงพอ หรือหลายครั้งก็พูดไม่ออก แต่การเขียนสามารถทดแทนตรงนี้ได้ นี่จึงเป็นสารใหญ่ของซีรีส์ที่พยายามจะสื่อสารถึงคนดู
ด้านการบิ้วด์บทดราม่า รียกอารมณ์คนดู ต้องยอมรับว่าบางตอนทำอารมณ์ได้ถึง แต่บางตอนก็ทำออกมาไม่ดีนัก ซึ่งการจะใช้เวลาเพียงแค่ไม่กี่นาทีเพื่อบิ้วด์อารมณ์คนดูให้อินไปกับบรรดาตัวละครประกอบประจำตอนที่ออกมามีบทเพียงแค่ตอนนั้นแล้วหมดไป ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ดังนั้นคนที่ไม่ชอบเรื่องสไตล์นี้ก็อาจจะไม่อินเท่าไหร่นัก
จุดด้อยอีกอย่างสำหรับผู้เขียนรีวิวคือ ไดอาล็อคของตัวละคร ที่มีความ “พยายามจนเกินไป” ในการถ่ายทอดอารมณ์แนวคิดหรือสะท้อนความรู้สึกบางอย่างให้คนดู ซึ่งบางครั้งอาจจะเป็นเรื่องง่ายๆที่คนเราหลงลืมไป ส่วนสาเหตุที่ว่าเป็นจุดด้อยก็เพราะมันทำให้ตัวละครบางคนในเรื่องมีบทพูดที่แปลกๆไม่ค่อยสมจริงกับบางสถานการณ์เท่าไหร่นัก แต่น่าสนใจว่าพอเป็นตอนที่ไม่ได้ต้องการบิ้วด์อารมณ์ดราม่า เรื่องนี้กลับทำได้ดี คือสามารถดึงอารมณ์คนดูให้จมเข้าไปในเรื่องราวของตอนนั้นได้
ส่วนจุดแข็งที่ถือว่าเป็นจุดแข็งสุดๆของเรื่องนี้ก็คือ งานภาพที่พลิ้วไหวถึงระดับขีดสุดของการสร้างอนิเมะเท่าที่จะทำได้ในยุคสมัยนี้เลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นงานเคลื่อนไหว ในระดับเล็กๆโดยเฉพาะเส้นผมที่ละเอียดเอามากๆ ไปจนถึงภาพฉากหลัง ทั้งหมดเป็นการสร้างงานระดับสูงที่ Kyoto Ani ยกระดับไปอีกขั้นอย่างน่าทึ่ง ด้านเพลงประกอบก็มีความไพเราะ เมื่อรวมกับงานภาพ และบรรยากาศเหงาๆในเรื่องแล้ว ก็ทำให้คนดูดำดิ่งลงไปกับอนิเมะได้ไม่ยากนัก
ด้านฉบับ Movie ที่เพิ่งเข้าฉาย ก็เป็นลักษณะของ “อีกหนึ่งภารกิจ” ที่ไวโอเล็ตจะต้องออกไปช่วยการดูแลและเขียนรับปรึกษาในด้านการเข้าสังคมให้กับลูกสาวของขุนนางคนหนึ่งที่ชื่อ เอมี่
บรรยากาศในฉบับมูวี่ก็คล้ายคลึงกับในฉบับซีรีส์ คือเป็นการเน้นอารมณ์แนวเหงาเศร้าปนกัน แต่ก็แฝงด้วยการให้กำลังใจ พลังบวกแบบฟีลกู้ด สำหรับคนที่เข้าสังคมไม่เก่ง
อย่างไรก็ตามในฉบับมูวี่จะมีสองเส้นเรื่องหลักรวมกันอยู่ในภาพยนตร์ตอนยาวตอนเดียว คือจะมีอีกเรื่องราวของเด็กหญิงเทย์เลอร์ ที่ออกเดินทางมายังบริษัทไปรษณีย์ CH ซึ่งก็มีความเกี่ยวโยงกับตัวละครในเส้นเรื่องแรกของไวโอเล็ตนั่นเอง
แต่จะเกี่ยวโยงกันยังไง แนะนำให้ลองดูกันเลยครับ ซึ่งก็ถือว่าทำได้ประทับใจไม่น้อยเลย แม้ว่าภาพรวมการเล่าเรื่องช่วงแรกอาจจะดูเนิบนาบไปบ้างก็ตาม แต่สารของเรื่องก็ค่อนข้างชัดเจนครับ ซึ่งก็แล้วแต่ว่าคนดูจะได้อะไรไปมากน้อยแค่ไหน แต่หนึ่งในสารที่ตัวหนังพยายามสื่อกับคนดูตลอดเรื่องก็คือ ลึกๆแล้วทุกคนก็อยากสื่อสารกับใครบางคนทั้งนั้น และการเขียนจดหมาย ก็คือทางออกหนึ่ง เพราะมันคือช่องทางที่เมื่อเขียนแล้ว ก็ต้องมีคนรับไปอ่านเหมือนกัน แต่เราอยากจะเขียนให้ใครอ่านเท่านั้น
ซึ่งในด้านเนื้อหา ถือว่าฉบับมูวี่ทำได้เยี่ยมตามมาตรฐาน ทั้งงานกราฟิก CG ส่วนการเดินเรื่องช่วงแรกจะค่อนข้างเนิบนาบ ซึ่งถ้าไม่เคยดูซีรีส์นี้มาก่อนอาจจะสงสัยว่า มันจะสื่ออะไรกันแน่
ส่วนที่ต้องชมเป็นพิเศษคือ นักพากย์ที่รับบทเด็กหญิงเทย์เลอร์ สามารถสื่ออารมณ์ออกมาทางเสียงได้ทรงพลังมากๆ
สำหรับในภาพรวมด้านความสำเร็จในเรื่องนี้ การันตีรางวัลมากมาย ซึ่งเดิมทีไลท์โนเวลเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เคยได้รับรางวัลชนะเลิศ Kyoto Animation Awards ครั้งที่ 5 ในปี 2014 แถมยังเป็นผลงานเรื่องเดียวที่ได้รางวัลระดับ Grand Prize เพราะบางปีหากไม่มีเรื่องถึงเกณฑ์ก็จะไม่ได้รับรางวัลเลยนั่นเอง
ส่วนรางวัลอนิเมะระดับชาติ เรื่องนี้ได้เสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Crunchyroll Anime Awards ปี 2019 ถึง 6 สาขา (มากเป็นอันดับที่ 3) และชนะในสาขา Best Animation โดยพลาดรางวัลใหญ่อย่าง Anime of the Year ให้กับ Devilman Cry Baby ใน Netflix เช่นกัน
สำหรับสตูดิโอ Kyoto Animation กำลังอยู่ระหว่างการฟื้นตัวหลังจากเหตุการณ์โศกนาฎกรรมในปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งแฟนๆก็คาดหวังว่าทีมงานของเรื่องนี้จะได้สร้างเรื่องนี้ต่อไปอีก
ส่วนใน Netflix ก็เข้ามาฉายครบแล้วทั้งแบบซีรีส์ 12 ตอน + 1 OVA + 1 Movie
สรุป
พูดได้เต็มปากว่านี่เป็นอนิเมะระดับมาสเตอร์พีซของ Kyoto Animation โดดเด่นมากด้านโปรดักชั่น งานภาพที่พลิ้วไหวตามสไตล์ของค่ายซึ่งพัฒนามาถึงจุดสูงสุด เป็นอนิเมะน้ำดีที่แนะนำใน Netflix แต่มีการเดินเรื่องสไตล์เมโลดราม่าที่ไม่ถูกจริตหลายคน
จุดเด่น
โปรดักชั่นสุดยอด งานภาพพลิ้วไหว สไตล์ Kyoto Ani ซึ่งสามารถเป็นเคสศึกษาด้านนี้ได้เลย
ตัวละครไวโอเล็ตวาดออกมาได้สวยมาก ตราตรึงคนดูได้ไม่ยาก (แม้แต่ตัวละครในเรื่องก็ยังยอมรับกันว่านางเอกสวยเหลือเชื่อมาก)
เรื่องราวดราม่า สวยงาม แนวให้กำลังใจ
บางครั้งเอาเรื่องที่ดูไม่สำคัญมาขยายให้น่าสนใจได้ดี
เพลงประกอบไพเราะ
จุดด้อย
ฟีลภาพรวมของเรื่องเป็นแนวดราม่าปนเหงา คนไม่ชอบการเดินเรื่องสไตล์เนิบนาบอาจจะดรอปได้
เป็นซีรีส์ที่เดินเรื่องด้วยอารมณ์แบบคนญี่ปุ่นมากๆ แม้ว่าเซตติ้งจะไม่ใช่ญี่ปุ่นก็ตาม จนอาจจะดูแปลกๆ
บางช่วงรู้สึกว่าจงใจยัดดราม่ามากเกินไป
Acting กับไดอาล็อคของตัวละครบางตอนดูเหนือจริงเกินไป จนบางทีไม่ค่อยอินกับความคิดอ่านของตัวละครในเรื่องเท่าไหร่