รีวิว Yasuke Netflix ยาสึเกะ ซามูไรแอฟริกา
Yasuke Netflix รีวิว ยาสึเกะ ซามูไรแอฟริกา องครักษ์ของโนบุนางะที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น เป็นฉบับแอ็กชั่นแฟนตาซี กราฟฟิก CG ฉากแอ็กชั่นเพียบ เดินเรื่องสไตล์ซามูไรพ่อลูกอ่อน ผลงานโดยสตูดิโอ Mappa ซึ่งเป็นสตูดิโอเดียวกับที่สร้าง Attack on Titan ss4
ตัวเรื่องแฝงวิถีซามูไรและบูชิโดแบบย่อยง่าย ว่าด้วยเรื่องเกียรติยศของนักรบ แล้วตัวเรื่องยังนำเสนอการวิพากษ์ความขัดแย้งระหว่างแนวคิดอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยม เป็นผลงานกำกับโดย Lesean Thomas เป็นอนิเมะแบบมินิซีรีย์ 6 ตอนจบซีซัน ซึ่งที่จริงแล้วในเรื่องสามารถแบ่งเป็น 2 บทใหญ่ได้คือ ตอนที่ 1-3 และ ตอนที่ 4-6 มีพากษ์ไทยด้วย
สำหรับเรื่องราวของยาสึเกะ เป็นซามูไรผิวสีคนแรกและคนเดียวในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่มีตัวตนจริง มีชื่อถูกบันทึกไว้ในเอกสารประจำตระกูลโอดะ และมีเรื่องเล่ามากมาย เป็นที่แพร่หลายในโลกตะวันตก จนเป็นต้นแบบของซามูไรแอฟโฟร่ด้วย
รีวิว Yasuke Netflix ยาสึเกะ ซามูไรแอฟริกา เรื่องย่อ
เรื่องราวของชายหนุ่มผิวสีร่างใหญ่จากแอฟริกาที่เดินทางมาในญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1579 พร้อมกับมิชชันนารีที่เข้ามาทำการเผยแผ่ศาสนาคริสต์และทำการค้าขายกับเหล่าไดเมียวในยุค “เซ็นโกคุ” ยุคสงครามกลางเมืองระหว่างแคว้นของเหล่าไดเมียวและซามูไร แล้วด้วยโชคชะตาเขาก็มีโอกาสได้พบกับ โอดะ โนบุนางะ ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ก้าวไกลกว่าผู้อื่น
โนบุนางะประทับใจความสามารถและทัศนคติต่อเรื่องความมีเกียรติของชายผิวสีคนนี้มาก จึงได้ตั้งชื่อให้ว่า “ยาสึเกะ” แล้วด้วยความสามารถในการต่อสู้ และความแข็งแกร่งเหนือคนทั่วไปทำให้ยาสึเกะกลายเป็นองครักษ์คนสำคัญข้างกายโนบุนางะ ผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในสามผู้ยิ่งใหญ่ที่ทำสงครามหมายรวมประเทศญี่ปุ่น และยังเป็นผู้วางรากฐานคนแรกด้วย
แต่แล้วในปี ค.ศ. 1582 โนบุนางะ กลับถูกอาเคจิ มิตสึฮิเดะ ทรยศ บุกโจมตีที่วัดฮอนโนจิ โนบุนางะจึงได้ทำฮาราคีรีตนเอง โดยมียาสึเกะรับคำสั่งเป็นผู้ลงมือบั่นศีรษะ ซึ่งถือว่าเป็นคำสั่งสุดท้ายที่เขาได้รับ แม้ว่านั่นจะเป็นหน้าที่ทรงเกียรติตามคติของซามูไร แต่มันกลับกลายเป็นฝันร้ายของยาสึเกะผู้ภักดีต่อเจ้านายยิ่งชีพ
จากนั้น 20 ปีต่อมา หลังจากประเทศญี่ปุ่นถูกรวมเป็นหนึ่งได้แล้วภายใต้การนำของ โทกุงาวะ อิเอยาสึ แล้วตั้งรัฐบาลโชกุนขึ้นมาปกครองประเทศ ไม่มีสงครามเกิดขึ้นอีก ยาสึเกะ ซึ่งหมดอาลัยตายอยากในชีวิต ได้หลบซ่อนตัวอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่ง ใช้ชีวิตแต่ละวันไปกับการดื่มสุรา การทำอาชีพจับปลา และช่วยเหลือผู้คนในหมู่บ้าน เป็นที่รักใคร่ของชาวบ้าน กระทั่งวันหนึ่ง สองแม่ลูก อิจิกะ และซากิ ได้ขอร้องให้ยาสึเกะช่วยเป็นคนคุ้มกันพาซากิที่ล้มป่วยหนักเดินทางขึ้นเหนือไปหาหมอวิเศษ แม้ว่ายาสึเกะจะไม่เห็นด้วยก็ตาม อีกทั้งเขาในระหว่างคุ้มกันสองแม่ลูก เขายังพบตราสัญลักษณ์ที่ทำให้เขาหวนนึกถึงสหายเก่าคือ “นัตสึมารุ” ซามูไรหญิง หรือที่เรียกว่า อนนะบูเกอิชา ซึ่งพวกเขาเคยอยู่ในสังกัดของโนบุนางะด้วยกัน
แต่แล้วยาสึเกะก็พบว่า ซากิ มีความลับพิสดารซุกซ่อนไว้ และกำลังถูกกลุ่มคนที่มีพลังร้ายกาจตามล่าตัวอยู่ด้วยนั่นทำให้เขาถูกลากเข้ามาพัวพันกับการต่อสู้ที่ทำให้เขาต้องปลุกจิตวิญญาณนักรบกลับมา เพื่อการปกป้องชีวิตของผู้หญิงและเด็กอีกครั้งหนึ่ง
มีหลายประเด็นเกี่ยวกับอนิเมชั่นเรื่องนี้ ทั้งจุดเด่น และ จุดด้อย ลองมาดูกันทีละข้อเลยครับ
1.งานสร้างดีเยี่ยม แต่เตะความสมเหตุผลทิ้งไปก่อน
จุดเด่นสำคัญของอนิเมะเรื่องนี้คือ โปรดักชั่น และ งาน CG กราฟฟิก ที่อยู่ในระดับดี การันตีผลงานโดยสตูดิโอดังอย่าง Mappa ที่มีผลงานอย่าง Attack on Titan ss4 และ Jujutsu no Kaisen
เพียงลักษณะของอนิเมชั่น เป็นการสร้างในสไตล์ ญี่ปุ่น+ตะวันตก ดังนั้นภาพรวมของงานดีไซน์คาแรคเตอร์ งานภาพและโมชั่นเคลื่อนไหวจึงดูมีความแข็งในแบบอนิเมชั่นตะวันตกอยู่บ้าง แต่ก็ดูเหมือนว่าเป็นความจงใจของทีมสร้างที่ต้องการให้ออกมาในสไตล์นี้
ส่วนที่ว่าให้เตะเหตุผลทิ้งไปนั้น เพราะเพียงแค่เรื่องนี้เปิดมาฉากแรก ก็จัดความถล่มภูเขาเผากระท่อมวินาศสันตะโลซัดกันด้วยพลังสุดอลังการ เสมือนผู้สร้างกำลังบอกคนดูแล้วว่า ความจริงแล้วนี่คืออนิเมะแอ็กชั่นแฟนตาซี ที่เอายุคซามูไรมาเป็นแบ็กกราวน์ ไปจนถึงการนำเสนอประเด็นขัดแย้งระหว่าง วิถีเก่า กับ วิถีใหม่ หรือเรียกง่ายๆ ว่ามันคือการเป็นอนิเมะที่นำเสนอการต่อสู้ระหว่าง อนุรักษ์นิยม และ เสรีนิยม
ฉากแอ็กชั่นและดนตรีประกอบ ก็ถือว่าเป็นจุดเด่นของเรื่อง แม้ฉากฟันดาบและฉากต่อสู้ในเรื่องจะไม่ถึงระดับสุดยอด แต่ก็อยู่ในเกณฑ์ดีโดยเฉลี่ย รวมถึงความดิบ โหด เลือดสาด ดูแบบเน้นความสะใจ โดยเฉพาะในสองตอนสุดท้ายที่จัดเต็มด้านกราฟฟิกและฉากต่อสู้ทั้งในแบบปะทะกองทัพและปะทะกับบอสใหญ่ที่ทรงพลัง ซึ่งตัวยาสึเกะไม่ได้มีพลังพิเศษใดๆ แต่อาศัยพละกำลังที่แข็งแกร่งว่าคนทั่วไปและความเชี่ยวชาญในวิชาดาบและการต่อสู้เข้าปะทะกับเหล่าศัตรูที่มีพลังเหนือมนุษย์
2.การวิพากษ์ประวัติศาสตร์ในเรื่อง
นอกจากนี้ยังมีความพยายามตีความเรื่องของวัฒนธรรมซามูไรของญี่ปุ่นกับเหล่านักรบในประวัติศาสตร์ยุคเซ็นโกคุอีกแง่มุมหนึ่ง และหลายประเด็นมีความร่วมสมัยกับโลกยุคปัจจุบันอย่างมาก ทำให้อนิเมะเรื่องนี้มีการแฝงนัยยะของการวิพากษ์และจิกกัดสังคมโลกเข้ามาด้วย
แต่ตัวเรื่องก็ไม่ได้เอาแต่วิพากษ์สังคมเป็นหลัก ส่วนหนึ่งที่อนิเมะทำได้ดีก็คือ การนำเสนอภาพ “ประวัติศาสตร์สงคราม” ในยุคเซ็นโกคุ โดยเฉพาะยุทธการศึกเทนโช ที่โนบุนางะบุกโจมตีพวกนินจาอิงะ ไปจนถึงภาพความขัดแย้งระหว่างโนบุนางะและเหล่าบริวารส่วนใหญ่ที่ยังคงยึดถือคติเก่าของเหล่าซามูไร ซึ่งกลายเป็นชนวนความขัดแย้งที่ทำให้โนบุนางะถูกต่อต้านจากผู้คนทั่วไปในยุคนั้น โดยเรื่องราวในส่วนนี้จะถูกเล่าผ่านสายตาของยาสึเกะ ที่เป็นเสมือนพยานของประวัติศาสตร์
3.ทำไมโนบุนางะจึงถูกมิตสึฮิเดะทรยศ
การพยายามอธิบายสาเหตุว่าทำไม โนบุนางะ จึงถูกมิตสึฮิเดะ ทรยศที่วัดฮอนโนจิ โดยในอนิเมะตีความเรื่องความขัดแย้งทางความคิดของคนทั้งสอง ที่โนบุนางะต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม ให้โอกาสผู้หญิงเช่นนัตสึมารุและคนนอกอย่างยาสึเกะให้ได้เป็นซามูไร ซึ่งปกติแล้วสงวนไว้ให้ผู้ชายญี่ปุ่นและมักต้องให้คนชั้นสูงเท่านั้น
(ที่จริงแล้ว อนนะบูเกอิชา หรือ ซามูไรหญิง เป็นที่สิ่งที่มีมานานแล้วในสังคมญี่ปุ่น แม้ว่าจะมีคนที่ได้ตำแหน่งเหล่านี้ไม่มากนัก แต่หลายคนมีชื่อจารึกในประวัติศาสตร์)
สำหรับประเด็นการแต่งตั้ง ยาสึเกะ ขึ้นมาเป็นซามูไร ถือว่าเป็นหนึ่งในสิ่งที่แสดงความแหกคอกและฉีกกฎเกณฑ์ดั้งเดิมของโนบุนางะ ที่ไม่สนใจพื้นเพของยาสึเกะ แม้ว่าเขาจะเป็นชาวต่างชาติ เป็นคนผิวสีดำ และเป็นทาสรับใช้ของมิชชันนารี แต่เมื่อโนบุนางะชื่นชอบและเห็นว่าเป็นคนเก่งกล้า เขาก็พร้อมจะมอบตำแหน่ง และให้โอกาสเป็นนักรบ สร้างผลงานในสนามรบ ซึ่งในอนิเมะก็จะขับเน้นวิสัยทัศน์ตรงนี้ของโนบุนางะออกมา
แต่อีกทางหนึ่ง ในอนิเมะก็นำเสนอเช่นกันว่าเรื่องนี้ทำให้มีหลายคนไม่พอใจโนบุนางะ นอกจากนี้โนบุนางะก็มีความโหดเหี้ยมในการสังหารศัตรู รวมถึงผู้หญิงและเด็ก ซึ่งทำให้ลูกน้องของเขาบางคนเองก็ไม่ชอบใจนัก
4.รสนิยมทางเพศของโนบุนางะ กับ LGBT ที่นำเสนอแบบผิดๆ
การนำเสนอประเด็น LGBT มีปรากฏอยู่ในเรื่อง จากเรื่องราวที่ โนบุนางะ ไปหลงรัก โมริ รันมารุ คนสนิทหนุ่มหน้าตาดีของตนเอง แล้วตัวอนิเมะเลือกนำเสนอว่า นี่คือหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ผู้สร้างตีความว่า ทำไมโนบุนางะถึงอยากทำลายวิถีเก่าๆของซามูไรทิ้งไป เพราะเขาต้องการสร้างสังคมใหม่ที่ผู้คนสามารถปลดปล่อยตนเองและทำในสิ่งที่ต้องการได้โดยไม่ต้องถูกวิถีเก่าผูกมัดไว้
แต่ที่จริงแล้วในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น จะพบว่าวัฒนธรรมที่ซามูไรคนหนึ่งหลับนอนกับซามูไรด้วยกันไม่ใช่เรื่องแปลกพิสดารแต่อย่างใดเลย ในวัฒนธรรมซามูไรมีพิธีที่เรียกว่า “ชูโด” ที่จะให้เด็กหนุ่มที่กำลังจะเป็นซามูไรต้องมาร่วมหลับนอนกับซามูไรอาวุโส นอกจากนี้ในระหว่างการทำสงคราม ก็เป็นเรื่องยากที่ไดเมียวผู้นำทัพจะนำผู้หญิงเข้ามาในกองทัพได้ เมื่อต้องทำสงครามเป็นเวลานาน การให้คนสนิทที่เป็นเด็กหนุ่มหน้าตาดีร่วมหลับนอนด้วย และรับหน้าที่องครักษ์ไปด้วย จึงเป็นเรื่องปกติในยุคสงครามของญี่ปุ่น
ตรงนี้เข้าใจว่าผู้สร้างต้องการนำเสนอในแง่มุมที่ โนบุนางะต้องการแสดงออกเรื่องรสนิยมทางเพศของตนเองอย่างเปิดเผยไปเลย ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้บริวารอย่างมิตสึฮิเดะ ซึ่งก็ถือว่าเป็นการตีความที่น่าสนใจ
(ที่จริงแล้วโนบุนางะก็มีภรรยาและมีอนุภรรยาที่เขารักมากอยู่ด้วย นั่นคือ เจ้าหญิงโนะ และ คิตสึโนะ ซึ่งเป็นมารดาของเหล่าบุตรชายโนบุนางะทั้งหลาย)
มีการแฝง Hint ในทางประวัติศาสตร์ไว้บางจุด แต่ที่สำคัญมากและน่าสนใจมีสามจุดหลัก เช่น
1.บอสใหญ่ของเรื่อง ไดเมียว หรือตัวจริงก็คือ โฮโจ มาซาโกะ ซึ่งมีตัวตนในประวัติศาสตร์จริง นางคือผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น อนนะบูเกอิชะคนแรก และเป็นภรรยาของ มินาโมโตะ โยริโทโมะ โชกุนคนแรกของญี่ปุ่น นับว่าเป็นสตรีคนแรกๆ ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่ก้าวขึ้นมามีอำนาจและมีบทบาทในการปกครองและมีอิทธิพลในการบริหารบ้านเมืองด้วย
2.การเล่นประเด็นความขัดแย้งของ โนบุนางะ และ มิตสึฮิเดะ กับเรื่องวิถีซามูไรดั้งเดิม ที่น่าจะเป็นหนึ่งในชนวนขัดแย้งสำคัญสู่เหตุการณ์ก่อกบฏที่วัดฮนโนจิ ซึ่งเรื่องพยายามหาเหตุผลและตีความให้คนดูเข้าใจแบบย่อยง่ายได้ดี ว่าทำไมมิตสึฮิเดะจึงก่อการ
3.การยั่วล้อตำนานของยาสึเกะเอง โดยมาจากการเซตเรื่องราวให้ซามูไรที่ถูกยาสึเกะเล่นงานเพื่อช่วยชีวิตเด็กในตอนที่เขามาญี่ปุ่นแล้วก็เป็นสาเหตุทำให้เขาเป็นที่ถูกใจของโนบุนางะนั้น มาเฉลยในตอนท้ายเรื่องว่า เขาก็คือ โอตะ กิวอิจิ ซึ่งเป็นนายอาลักษณ์ของตระกูลโอดะ ซึ่งเป็นบุคคลที่บันทึกเหตุการณ์ประจำวันในตระกูลโอดะและงานของเขากลายเป็นแหล่งอ้างอิงชั้นดีสำหรับประวัติศาสตร์ยุคนั้น
แต่การที่บทบาทของยาสึเกะในกองทัพโอดะไม่เด่นชัดนอกจากที่มีเขียนไว้ว่าเขาเป็นองครักษ์ของโนบุนางะที่ติดตามร่วมทัพด้วย อาจเป็นเพราะเขาถูกยาสึเกะเล่นงาน ทำให้ข้อมูลของยาสึเกะไม่ได้ถูกเขียนไว้มากนัก ซึ่งบันทึกประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องของยาสึเกะที่เรารับทราบกันก็คือบทบาทของเขาในระหว่างเหตุการณ์ในวัดฮอนโนจิที่เขายังคงภักดีต่อโนบุนางะแม้จะสิ้นชีพไปแล้ว และหลังจากโนบุนางะสิ้นไป เขาก็เข้าร่วมกับทัพของโนบุทาดะเปิดศึกกับมิตสึฮิเดะต่อ จนกระทั่งถูกมิตสึฮิเดะจับตัวเป็นเชลย แล้วส่งตัวคืนให้คณะเยซูอิต จากเรื่องราวของเขาก็หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์
ในภาพรวมแล้ว นี่เป็นอนิเมะน้ำดีที่เป็น Original Netflix ควรค่าได้รับชม ความยาว 6 ตอนจบ ซีซันแรก สำหรับคนที่ชอบแนวซามูไร แอ็กชั่นมันส์ๆผสมแฟนตาซีเวอร์ๆ ในแบบเตะเหตุผลทิ้งออกไปก่อนเลย สามารถรับชมได้ตอนนี้เลยครับ
สรุป
เรื่องราวของ ยาสึเกะ ซามูไรแอฟริกา องครักษ์ของโนบุนางะที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น สร้างโดยสตูดิโอ Mappa เป็นแบบแอ็กชั่นแฟนตาซี กราฟฟิก CG ฉากแอ็กชั่นเพียบ เดินเรื่องสไตล์ซามูไรพ่อลูกอ่อน ให้ดูแบบเตะเหตุผลทิ้ง
ข้อดี
ฉากแอ็กชั่นเพียบ กราฟฟิก CG อยู่ในระดับดี เพลงประกอบใช้ได้
ฉากฟันดาบทำได้ดุดัน รวดเร็ว ตัวเอกเก่งมากก็จริง แต่พวกศัตรูเก่งกว่า
เดินเรื่องกระชับ รวดเร็ว ไม่เยิ่นเย้อ
ตัวละครหลายคนอิงจากประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นจริง แฟนคลับยุคเซ็นโกคุน่าจะชอบ
มีการแฝง Hint ในประวัติศาสตร์และตีความได้น่าสนใจ
ใช้อนิเมะวิพากษ์แนวคิดอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยมได้ร่วมสมัย
ผู้สร้างจงใจใส่ความโอเวอร์เข้ามาตั้งแต่ฉากแรก เพื่อบอกคนดูถึงทิศทางของเรื่อง
มีพากษ์ไทย
ข้อเสีย
งานอนิเมชั่นมีความแข็งของตัวละครในแบบตะวันตก
ตัวเรื่องเป็นการมองวัฒนธรรมตะวันออกจากคนตะวันตก การใช้คำพูดหรือบริบทของบทสนทนาเลยดูแปลก เช่นการใช้คำว่าวิถีเก่าแบบฟุ่มเฟือยมาก
มีความเข้าใจวัฒนธรรมญี่ปุ่นแบบผิดๆหลายอย่าง
จงใจใส่เรื่อง LGBT เข้ามาในตัวโนบุนางะแบบผิดๆ
นำเสนอภาพของนินจาอิงะในความเข้าใจของคนตะวันตกที่ไม่ถูกต้อง